วัคซีนโควิด mRNA ช่วยชีวิตคน หรือเพิ่มความเสี่ยงให้ตาย-พิการ

mRNA ตกลงวัคซีนโควิด ช่วยชีวิตคนตามหลักทางการแพทย์ หรือเพิ่มความเสี่ยงให้คนเสียชีวิตและเจ็บป่วยมากขึ้นจริงหรือ? จากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หลังโควิดระบาดเข้าสู่ปีที่ 5 กลายเป็นคำถามของผู้คนจำนวนหนึ่งในสังคม เพราะเริ่มเกิดความตื่นตระหนกวิตกกังวล และอาจกลัววัคซีนโควิด เกรงว่าจะเกิดผลกระทบต่อร่างกาย จนไม่กล้าฉีดอีกต่อไปก็ได้

ยิ่งล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นผลที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับวัคซีนโควิด ชนิด mRNA ในคนที่ยังไม่ตาย และตายแล้ว พบแท่งย้วยสีขาวคล้ายหนวดปลาหมึก ไม่เคยพบมาก่อน โดยอ้างอิงข้อมูล ดร.จอห์น แคมป์เบลล์ อดีตอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยคัมเบรีย  

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุจำนวนการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติ แต่มองว่าวัคซีนมีประโชน์ จะช่วยชีวิตป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ แต่ต้องรับทราบผลกระทบต้องรีบแจ้งให้ประชาชนทราบและหมอถูกเซนเซอร์มาตลอด ในขณะเดียวกันสิ่งที่ช่วยได้ให้พยายามฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งใช้กลไกของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันคนละระบบ และควรจะลดผลข้างเคียงลง

ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค เปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับประโยชน์และผลเสียจากวัคซีนโควิด ยืนยันผลการวิเคราะห์อัตราการตายส่วนเกิน ยังไม่พบหลักฐานว่าการได้รับวัคซีนโควิดชนิด mRNA เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต อีกทั้งยังไม่สัมพันธ์กับการตายในกลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และกลุ่มโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่จะทำการศึกษาเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์ต่อไป

วัคซีนโควิด ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ลดความรุนแรงได้

ขณะที่ “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาพูดถึงความสับสนที่เกิดขึ้นในการฉีดวัคซีนโควิด ว่า ต้องยอมรับในช่วงโควิดกำลังระบาดอย่างหนัก ทั้งยาและวัคซีน ออกมาด้วยความรีบร้อน อย่างยาคุมกำเนิดบางตัว เพิ่งมาพบว่าทำให้เด็กมีความผิดปกติ ก็ต้องยกเลิกยาคุมกำเนิดตัวนั้น ไม่ได้แบนยาคุมกำเนิดทั้งหมด และความหมายก็คือว่า ต้องมีวัคซีนโควิดเอาไว้ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย

หากไม่มั่นใจวัคซีนยี่ห้อ ก. หรือชนิด mRNA อาจเลือกพิจารณาวัคซีนเชื้อตาย หรือชนิดไวรัล เวกเตอร์ ซึ่งการออกมาบอกของศ.นพ.ธีระวัฒน์ ไม่ได้ต่อต้านการฉีดวัคซีน แต่บอกถึงผลกระทบเท่านั้น อาจ 1 ในล้านคน หรือ 1 ในหมื่นคน หรือ 1 ในพันคน

ข้อมูลของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ มาจาก ดร.จอห์น แคมป์เบลล์ ซึ่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เวลาออกมาพูดก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เข้าใจว่ามีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แต่ต้องมาจากนักวิจัยที่น่าเชื่อถือ และการทำวิจัยต้องมีกลุ่มตัวอย่างมากพอสมควร

อย่างอังกฤษเก็บข้อมูลกลุ่มประชากร ตั้งแต่ก่อนและหลังฉีดวัคซีน กว่า 5 แสนคน การวิเคราะห์แบบนั้นมีความชัดเจนในทางสถิติ เน้นย้ำว่าโควิด ไม่ใช่ไข้หวัดทั่วไปที่ปล่อยให้ติดเชื้อและหายเองได้ ต้องรีบรักษาด้วยยาต้านไวรัส และจำเป็นต้องป้องกันตัวเองในการล้างมือ กินร้อน ช้อนกลาง และสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน จะลดความรุนแรงของการติดเชื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงทางอ้อมของโรคทางเดินหายใจในระยะยาวได้

ระวังโรคหอบหืด อาจมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนโควิดไม่ได้มีส่วนก่อให้เกิดโรคหลอดลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคพังผืดที่ปอด โรคหลอดเลือดระหว่างหัวใจและปอด และมะเร็งปอด แต่ต้องระวังโรคหอบหืด อาจมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน ต้องเฝ้าติดตามดูแลผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด เป็นการเฉพาะ

“ผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด ทางองค์การอนามัยโลก รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือของอังกฤษ และเยอรมนี ก็ไม่ได้ออกมาขยับ ออกมาเคลื่อนไหวอะไร คนออกมาพูดเรื่องนี้เหมือนจิ้งจกทัก ไม่ได้ผิด และกรมควบคุมโรค จะพูดคงไม่ได้ ต้องใช้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือแล้วค่อยพูดออกมา ขณะที่แพทย์ในโรงเรียนแพทย์ สามารถออกมาให้ข้อมูลได้ อย่างไรแล้วต้องเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาสื่อสาร แต่เมื่อเป็นองค์กรใหญ่ ก็ต้องรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจน”

ในห้วงที่ผู้คนกำลังสับสนเรื่องการฉีดวัคซีนโควิดอีกครั้ง อยากย้ำว่าแม้วัคซีนโควิด ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด และอัตราความเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อร่างกายอาจมีได้ หากเทียบกับการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ก็สามารถลดความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิดได้ และไม่ว่ายาหรือวัคซีนโรคอื่นๆ ก็อาจมีผลกระทบบ้าง อาจ 1 ในล้านคน ซึ่งต้องชั่งน้ำหนัก

หากเกิดความไม่มั่นใจก็มีทางเลือกอื่น ในการเลือกวัคซีนโควิด จะเป็นชนิดเชื้อตาย หรือไวรัล เวกเตอร์ หรือแม้กระทั่ง mRNA เพราะเมื่อเวลาเปลี่ยนไวรัสโควิดกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้การฉีดวัคซีน ไม่ใช่การป้องกัน แต่ช่วยให้อาการไม่รุนแรงหนัก และลดการเสียชีวิตลงได้

ขอขอบคุณบทความจาก : thairath